ชื่อไทย : จำปา
ชื่อท้องถิ่น : จำปาเขา (ตรัง)/ จำปาทอง(นครศรีธรรมราช,สุราษฎร์ธานี)/ จำปาป่า(ตราด,สุราษฎร์ธานี) 
ชื่อสามัญ : Champak/  Orange champak/ Sonchampak
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Michelia champaca L.
ชื่อวงศ์ : MAGNOLIACEAE
ลักษณะวิสัย : ไม้ยืนต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น :
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 – 301 เมตร ลำต้นเปลาตรงแตกกิ่งจำนวนมากที่ยอด ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นที่ระดับอก 25 – 120 ซม.
ใบ :
ยอดอ่อนและใบอ่อนมีขน ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4 – 9 ซม. ยาว 10 – 20 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อยเนื้อใบบาง แผ่นใบด้านบนสีเขียวอ่อนเป็นมันวาว ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบและเส้นร่างแหชัดเจน เส้นแขนงใบ 16 – 20 คู่ ก้านใบยาว 2 – 4 ซม. โคนก้านใบป่อง
ดอก :
เดี่ยว ออกตามซอกใบ สีเหลืองส้ม ดอกอ่อนรูปกระสวย กว้าง 0.8 – 1.2 ซม. ยาว 3 – 4 ซม. ก้านดอกยาว 1 – 2 ซม. กาบหุ้มดอกสีเขียวอ่อน มี 1 แผ่น จะฉีกและหลุดไปเมื่อดอกเริ่มแย้ม กลีบดอกมีจำนวน 12 – 15 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปใบกอกค่อนข้างยาว กว้าง 1 – 1.5 ซม. ยาว 4 -4.5 ซม. กลีบชั้นในแคบและสั้นกว่า เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียมีจำนวนมาก เกสรเพศผู้ยาว 8 – 9 มม. เกสรเพศเมียยาว 1.5 – 2 ซม. ดอกบานตั้งขึ้น มีกลิ่นหอมแรง ส่งกลิ่นหอมตั้งแต่พลบคำ่จนถึงกลางวัน
ผล :
เป็นกลุ่ม ช่อยาว 6 – 9 ซม. ผลย่อย 15 – 40 ผล ไม่มีก้านผลย่อย แต่ละผลค่อนข้างกลมหรือกลมรี ขนาด 1 – 2 ซม. เปลือกผลหนาและแข็ง ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน มีช่องอากาศสีขาวเป็นจุดเด่นชัด เมื่อผลกแก่ เปลือกผลเปลี่ยนเป็นสีเทา แตกตามร่องกลางผลในแนวตั้ง  เมล็ด แต่ละผลมีเมล็ดแก่สีแดง 1 – 6 เมล็ด รูปทรงกลมหรือกลมรี ยาว 0.8 – 1 ซม.
ระยะติดดอก - ผล :
เริ่มติดดอก : มิถุนายน สิ้นสุดระยะติดดอก : ตุลาคม
เริ่มติดผล : ธันวาคม สิ้นสุดระยะติดผล : กุมภาพันธ์

สภาพทางนิเวศวิทยา :

นิเวศวิทยา

ถิ่นกำเนิด

การกระจายพันธุ์

          การใช้งานด้านภูมิทัศน์ ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ไม้โชว์ทรงพุ่ม ตลอดจนปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาหรือบังลมที่มีดอกหอมและสวยงาม
การปลูกและการขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง
รายละเอียดการใช้ประโยชน์ :

- ดอก ปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิต แก้คลื่นไส้ แก้ไข้ และขับปัสสาวะ

- เปลือกต้น มีรสฝาดสมาน ใช้แก้ไข้

- ใบ เป็นยาแก้โรคประสาท [1]

- ดอกของจำปามีการจำหน่ายในปริมาณสูง เพื่อนำมาร้อยมาลัยและเพื่อใช้ผสมในตำรับยาไทยแผนโบราณ [2]

- ดอก ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ขับลม ขับปัสสาวะ แก้โรคไต บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี แก้วิงเวียนศีรษะ

- เปลือกต้น ฝากสมาน แก้ไข้

- เปลือกราก เป็นยาถ่าย ทำให้ประจำเดือนปกติ ขับพยาธิ

- ใบ แก้โรคทางระบบประสาท

- น้ำมันหอม ทำจากดอก ทาแก้ปวดศีรษะ แก้ตาอักเสบ บวมแก้โรคปวดข้อ [3]

แหล่งอ้างอิง : [1] คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร. [2] ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2545. แมกโนเลียเมืองไทย. Thai Magnoliaceae . พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์บ้านและสวน.กรุงเทพมหานคร. [3] วีณา เชิดบุญชาติ. 2543. ปลูกผักไทยได้ทั้งอาหารและยา. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพมหานคร. 
ประเภทของการใช้ประโยชน์ :
พืชล่อแมลง
ไม้ยืนต้น
พืชสมุนไพร
ที่อยู่ :
หมายเหตุ :

ความแหลกหลายทางพันธุกรรมของจำปา

เนื่องจากจำปามีถิ่นกำเนิดเดิมกระจายกว้างขวางมากนับตั้งแต่อินเดีย พม่า ผ่านมาถึงไทย และไปจนถึงเวียดนาม รวมทั้งมีการขยายพันธุ์โดยเมล็ดจึงมีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติออกไปตามลำดับ

                แต่อย่างไรก็ตาม ในการปลูกจำปาเป็นไม้ดอกไม้ประดับนั้น บรรพบุรุษของเราได้คัดเลือกต้นที่มีขนาดเล็ก ออกดอกดก ดอกมีขนาดใหญ่ มีสีเข้มสวยงาม และมีกลิ่นหอม แล้วนำมาปลูกและขยายพันธุ์กันต่อๆมา โดยทั่วไปจึงพบแต่จำปาที่มีดอกสีเหลืองส้ม สีดังกล่าวทำให้เข้าใจกันและเรียกกันติดปากว่า สีจำปา

                สำหรับพันธุ์ของจำปาที่มีลักษณะแตกต่างออกไป ก็มีเพียงสีของดอกที่มีสีเหลืองส้มน้อยลงนกระทั่งเป็นสีเหลืองอ่อน หรือเกือบจะเป็นสีขาว ที่เรียกกันว่า พันธุ์จำปาขาว ซึ่งมีแหล่งดั้งเดิมอยู่ที่วัดกลาง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก สำหรับพันธุ์จำปาขาวจากต้นดั้งเดิมนี้ในช่วงที่ดอกเริ่มแย้มจะมีสีเหลืองอ่อน เมื่อเทียบแล้วจะอ่อนกว่าจะปีสีนวลเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับเป็นสีขาวเหมือนกับจำปี และในช่วงที่ดอกใกล้โรยนั้น กลีบดอกของจำปาขาวก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มเหมือนจำปาทั่วไป แต่กลิ่นหอมไม่เหมือนกลิ่นจำปา

                ในปัจจุบันมีการเพาะเมล็ดจำปาเพื่อใช้เป็นต้นตอสำหรับทาบกับชนิดอื่นๆ และพบว่ามีต้นกล้าบางต้นกลายพันธุ์ไป ใบมีขนาดใหญ่และหนาขึ้น มีกลีบดอกสีขาว กลีบบางเหมือนกับจำปีป่าแต่ไม่หนาเหมือนจำปีที่ปลูกทั่วไป [3]

รูปพรรณไม้ :
   
Copyright © 2011 Royalpark Rajapruek All rights reserved.
ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100
โทร 053-114110-5 แฟกซ์ 053-114196 E-Mail : [email protected]
เริ่มใช้งานระบบเมื่อ 1 มิถุนายน 2554